ค่าแรง-ค่าครองชีพ คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ จังหวะที่ธุรกิจบริการเข้าสู่โหมดของการรฟื้นฟูและเปิดรับนักท่องเที่ยว
13 พฤษภาคม 2565
จังหวะที่ธุรกิจบริการเข้าสู่โหมดของการฟื้นฟูและเปิดรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น มีความเคลื่อนไหวที่เห็นชัดว่าทั้งโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ฯลฯ ต่างเปิดรับพนักงานกลับมาเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจใหม่
แต่ช่วงเวลาเดียวกันนี้ เสียงเรียกร้องของภาคแรงงานให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังมากขึ้น หลังจากไม่มีการปรับค่าแรงมานาน 3 ปี ผ่านวิกฤตโควิดจนมาถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน นานจนกระทั่งสินค้าขึ้นราคา ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น จากราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
เมื่อวันแรงงานแห่งชาติ กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน มีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลด้วยตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่ชัดเจนว่า วันละ 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ตัวเลขนี้มาจากสูตรการคำนวณค่าใช้จ่ายรายวัน และรายเดือน ที่เชื่อว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระ ครอบคลุมค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัว ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มฝั่งนายจ้างส่งเสียงสะท้อนที่ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าจังหวะนี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น หากมีการขึ้นค่าแรงอีก จะบริหารจัดการต้นทุนไม่ไหว และบางกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยอาจถึงขั้นต้องปิดตัว
ธุรกิจร้านอาหารที่พยายามเปิดรับคนกลับมาทำงาน จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักอันดับต้น ๆ เพราะลำพังวัตถุดิบด้านอาหาร เชื้อเพลิง และค่าขนส่งวัตถุดิบล้วนขึ้นราคาไปหมดแล้ว
สำหรับท่าทีของรัฐบาล กำหนดช่วงเวลาการพิจารณาการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ขึ้นในเร็ววันนี้ ทั้งส่วนขั้นตอนสำรวจ ประมวลผล และทบทวนอัตราค่าจ้างจะใช้เวลาอย่างน้อยไปถึงเดือนสิงหาคม หรือกันยายน
นอกจากนี้การใช้ข้อมูลเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในภูมิภาคอาเซียนว่า ค่าจ้างแรงงานของไทยสูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย และเมียนมา เป็นรองแค่เพียงสิงคโปร์
สิ่งที่น่าสังเกตอีกมุมก็คือ ในขณะที่แรงงานไทยมีค่าจ้างสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเทียบกับทักษะแรงงานที่มีอยู่ แต่การเยือนไทยของผู้นำรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจของญี่ปุ่นว่า ปัญหาค่าแรงงานไทยมีราคาสูง รวมทั้งรัฐยังเก็บภาษีแรงงาน จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของการลงทุนในไทย
ส่วนกรณีซาอุดีอาระเบียฟื้นความสัมพันธ์กับไทย และระบุถึงความต้องการแรงงานไทยในภาคบริการ โรงแรม แม่บ้าน และช่างก่อสร้าง แต่ด้วยอัตราค่าจ้างแรงงานของไทยในกลุ่มนี้ในซาอุดีอาระเบียไม่แตกต่างจากของไทย
จึงไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังมากนักตอกย้ำข้อสังเกตว่า ค่าจ้างแรงงานไทยน่าจะสูงจริง แต่เป็นจำนวนที่ไม่ได้สะท้อนทักษะแรงงาน และไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
Cr. prachachat
TAGS : อัปเดตตำแหน่งงาน , ข่าว , วันแรงงาน , ค่าแรงขั้นต่ำ , ค่าครองชีพ , ร้านอาหาร , บทความผู้หางาน , สมัครงาน , อัพเดตตำแหน่งงาน , ดูดวง